ในประเทศไทย แมววิเชียรมาศเป็นแมวโบราณที่มีลักษณะเด่นมากที่สุดในบรรดาแมวสายพันธุ์อื่นๆ เพราะมี ตาสีฟ้าสวยงามมาก เป็นแมวที่มีผู้นิยมเลี้ยงมากที่สุดตั้งแต่สมัยก่อน จนถึงปัจจุบัน และในสมัยก่อนผู้ที่เลี้ยงแมววิเชียรมาศได้จะเป็นพระมหากษัตรีย์ หรือเชื้อราชวงศ์เท่านั้น
จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานแมวไทยวิเชียรมาศ เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีระหว่างประเทศในปี พ.ศ.2427 ทรงมอบแมววิเชียรมาศ 1 คู่ ให้ นายโอเวน กูลด์ (Owen Gould) กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพมหานคร ต่อมาท่านได้นำแมวคู่นี้ไปฝากน้องสาวที่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ และอีกหนึ่งปีต่อมา แมวคู่นี้ถูกส่งเข้าประกวดในงานประกวดแมวที่ The Crystal Palace กรุงลอนดอน ผลปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศ ทำให้ชาวอังกฤษพากันตื่นเต้นเลี้ยงแมวไทยกันมากขึ้น จนถึงขั้นตั้งเป็นสโมสรแมวไทย เมื่อปี พ.ศ.2443 มีชื่อว่า The Siamese Cat Clubs
ต่อมาในปี พ.ศ.2471 ก็มีการตั้งสมาคมแมวไทยแห่งจักรวรรดิอังกฤษ หรือ The Siamese Cat Society of the British Empire ขึ้นอีกสมาคมหนึ่ง แมวไทยที่นายโอเวน กูลด์ นำไปจากเมืองไทยนั้น มีแต้มสีครั่ง หรือน้ำตาลไหม้ที่บริเวณหน้า หูสองข้าง เท้าทั้งสี่ หาง และ อวัยวะเพศ รวมเก้าแห่ง ทั้งตัวผู้และตัวเมีย นับว่าเป็นแมวที่มีสีที่โดดเด่น ไม่เหมือนแมวไทยทั่วไป และต่อมาต่างชาติ มีการตั้งฉายาแมววิเชียรมาศว่า Moon Diamond แปลว่า เพชรแห่งดวงจันทร์ ซึ่งฉายานี้เอามาจาก ชื่อ วิเชียรมาส ที่สะกดด้วย ส ไม่ใช่ ศ แบบปัจจุบัน
รายละเอียดตามตำรา
- คำว่า “วิเชียร” แปลว่า “เพชร”
- คำว่า “มาส” แปลว่า “พระจันทร์”
- คำว่า “มาศ” แปลว่า “ทอง”
คำว่า “มาส” พบในตำรา สำหรับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร)ในตามตำราสมุดข่อยของท่าน แปลว่า “เพชรแห่งดวงจันทร์” ในขณะภาษา ณ ปัจจุบัน ใช้ตัวสะกด ว่า “มาศ”
นอกจากนี้ ตามตำราบางฉบับเรียก “แมวแก้ว” ซึ่งหมายถึงเครื่องประดับ ที่มักจะประกอบไปด้วยทองคำและเพชรพลอยสีต่างๆ มีสีขน เหมือน ปุ้ยฝ้าย ที่มีลักษณะสีขาวนวล ไม่มีสีอื่นเจือป่น ส่วนสีของตาเปรียบเหมือนสีมรกต บางตำราเปรียบเทียบสีตาเหมือนสีเกล็ดของพญานาค ซึ่งแปลว่า “สีฟ้า” นั่นเอง ซึ่งในสมัยโบราณอาจจะยังไม่มีคำเฉพาะ เรียกสีต่างๆเหมือน ณ ปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบสีตามสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งของที่พบเห็นในสมัยนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทกลอนในตำราแมวจะเป็นลักษณะเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของภาษาไทยในสมัยโบราณ เพื่อให้ผู้อ่านจินตนาการไปตามผู้แต่งตำรานั้นๆว่าจะมีลักษณะเป็นเช่นไร
แมววิเชียรมาศจะแบ่งสีขนเป็น 4 ประเภท
1. Seal point
2. Blue point
3. Chocolate point
4. Lilac point